เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์

มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

สายงาน รังสีการแพทย์

ลักษณะงานโดยทั่วไป
สายงานนี้คลุมถึงตำแหน่งต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานทางรังสีการแพทย์ ซึ่งมีลักษณะงานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้กรรมวิธีต่าง ๆ ในการถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ตรวจสอบคุณภาพของภาพบันทึกทางรังสี การใช้เครื่องอีเลคโทรนิคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค การฉายรังสีด้วยเครื่องโคบอลด์ 60 และเครื่องมือทางรังสีเทคนิคอื่น ๆ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เนื้องอก ก้อนทูม จัดเตรียมและดูแลเก็บรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในทางรังสีการแพทย์ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการป้องกันอันตรายจากรังสี ทำรายงานการปฏิบัติงาน สถิติผลงานและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานรังสีการแพทย์

ชื่อและระดับตำแหน่ง
ตำแหน่งในสายงานนี้มีชื่อและระดับของตำแหน่งดังนี้ คือ
เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 ระดับ 2 ตำแหน่งประเภททั่วไป
เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 3 ระดับ 3 ตำแหน่งประเภททั่วไป
เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4 ระดับ 4 ตำแหน่งประเภททั่วไป
เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 5 ระดับ 5 ตำแหน่งประเภททั่วไป
เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 6 ระดับ 6 ตำแหน่งประเภททั่วไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานขั้นต้นเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ความสามารถหรือความชำนาญงานค่อนข้างสูง ภายใต้การกำกับตรวจสอบโดยทั่วไป หรือตามคำสั่งหรือแบบ หรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่อย่างกว้าง ๆ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยาก เกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์หรือรังสีฟิสิกส์ พิมพ์ชื่อผู้ป่วยลงบนฟิล์ม จัดทำผู้ป่วยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามขั้นตอนในการถ่ายและบันทึกภาพด้วยรังสี ตั้งระยะและปรับขนาดของลำแสงที่จะใช้กับผู้ป่วย
ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ ในกรณีที่ไม่เป็นปัญหาหรือไม่ต้องใช้กรรมวิธีพิเศษที่ยุ่งยาก ตรวจสอบคุณภาพของภาพบันทึกทางรังสีก่อนที่จะส่งให้แพทย์วินิจฉัย ดูแลความเรียบร้อยและเก็บรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ทางด้านรังสีการแพทย์ เก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานการปฏิบัติงาน รวมทั้งสถิติผลงานด้านรังสีการแพทย์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
ได้รับประกาศนียบัตรทางรังสีวิทยา รังสีการแพทย์ รังสีเทคนิค ซึ่งมีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาวิชาสามัญ หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้หรือทางอื่นที่ ก.ท. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
1. มีความรู้ในงานรังสีการแพทย์อย่างเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่
2. มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับอื่นที่ใช่ในการปฏิบัติงานในหน้าที่
3. มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานธุรการและงานสารบรรณอย่างเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่
4. มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่
5. มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดแม่นยำ
6. มีความสามารถในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับระเบียบและวิธีการปฏิบัติงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 3

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานไม่สูงนัก หรือปฏิบัติงานรังสีการแพทย์ที่ยากพอสมควร ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ความสามารถหรือความชำนาญงานสูงพอสมควร ภายใต้การกำกับตรวจสอบบ้าง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ยากพอสมควรเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือรังสีฟิสิกส์ จัดท่าผู้ป่วย ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ และเครื่องมือชนิดอื่น ๆ หรือปฏิบัติงานชั้นต้นทางวิชาการด้านรังสีวินิจฉัยรังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือรังสีฟิสิกส์ เช่น ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยใช้เทคนิคหรือกรรมวิธีพิเศษที่ยุ่งยาก โดยการให้ผู้ป่วยรับประทาน ฉีด หรือสวนสารทึบแสงเข้าไปในร่างกายก่อนถ่ายและบันทึกภาพด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ เช่น ตรวจหัวใจ กระเพาะอาหาร ฯลฯ ตรวจสอบคุณภาพของภาพบันทึกทางรังสีก่อนที่จะส่งให้แพทย์วินิฉัยโรค ปรับขนาดของลำแสงและทิศทางของรังสีที่จะใช้กับผู้ป่วย ฉายรังสีเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เนื้องอก ก้อนทูม ด้วยเครื่องโคบอลต์ 60 และเครื่องมือทางรังสีการแพทย์อื่น ๆ การใช้เครื่องนับวัดรังสี ตรวจหาปริมาณรังสีจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วย และใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์กับผู้ป่วย และนำผลการบันทึกทางรังสีจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวให้แพทย์ใช้ประกอบในการตรวจและวินิจฉัยโรค ควบคุมดูแลและเก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ทางด้านรังสีการแพทย์ รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการป้องกันอันตรายจากรังสี เก็บ รวบรวมข้อมูลและจัดทำบันทึกรายงานการปฏิบัติงาน สถิติผลงานด้านรังสีการแพทย์ เป็นต้น ให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ติดต่อประสานงานและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 2 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 แล้ว จะต้อง
1. มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย
2. มีความสามารถในการศึกษา หาข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาและสรุปเหตุผล

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูง หรือปฏิบัติงานรังสีการแพทย์ที่ค่อนข้างยากมาก ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถหรือความชำนาญงานค่อนข้างสูงมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กำกับตรวจสอบ หรือภายใต้การตรวจสอบบ้าง หรือปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับแผนก ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูง หรือ ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานรังสีการแพทย์โดยควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนหนึ่ง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยากมากเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์หรือรังสีฟิสิกส์ จัดท่าผู้ป่วย ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์และเครื่องมือชนิดอื่น ๆ หรือปฏิบัติงานทางวิชาการด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษาเวชศาสตร์นิวเคลียร์หรือรังสีฟิสิกส์ เช่น ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยใช้เทคนิคหรือกรรมวิธีพิเศษที่ยุ่งยาก โดยการให้ผู้ป่วยรับประทาน ฉีด หรือสวนสารทึบแสงเข้าไปในร่างกายก่อนถ่ายและบันทึกภาพด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ ตรวจสอบคุณภาพของภาพบันทึกทางรังสีก่อนที่จะส่งให้แพทย์วินิจฉัย ปรับขนาดของลำแสงและทิศทางของรังสีที่จะใช้กับผู้ป่วย ฉายรังสีเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่โรคมะเร็ง เนื้องอก ก้อนทูม ด้วยเครื่องโคบอลต์ 60 และเครื่องมือทางรังสีการแพทย์อื่น ๆ การใช้เครื่องนับวัดรังสี ตรวจหาปริมาณรังสีจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วย การใช้สารกัมมันตภาพรังสีและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์อื่น ๆ กับผู้ป่วย ตลอดจนควบคุมดูแลและเก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในทางรังสีการแพทย์ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการป้องกันอันตรายจากรังสี ควบคุมการเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดทำบันทึกรายงานการปฏิบัติงานและสถิติผลงานด้านรังสีการแพทย์ เป็นต้น ให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ ติดต่อประสานงานและปฏิบัติหน้าทีอื่นที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผล และแก้ไขปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงานปฏิบัติงานตามที่ได้รับ มอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 3 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ หรืองานทอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าระดับ 2 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 3 แล้ว จะต้อง
1. มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและแผนงานด้านต่าง ๆ ของส่วนราชการที่สังกัด
2. มีความสามารถในการจัดทำแผนงาน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ และเสนอแนะวิธีการแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ
3. มีความสามารถในการปกครองบังคับบัญชา
4. มีความสามารถในการติดต่อประสานงาน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 5

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับแผนก ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูงมาก หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานด้านรังสีการแพทย์ โดยควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนพอสมควร หรือปฏิบัติงานรังสีการแพทย์ที่ยากมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กำกับตรวจสอบ และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานรังสีการแพทย์
ตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ยากมาก หรือมีความรับผิดชอบสูงมากเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ควบคุมและปฏิบัติงานจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือรังสีฟิสิกส์ จัดท่าผู้ป่วย ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ ทั้งในกรณีปกติธรรมดาและในกรณีที่ต้องใช้เทคนิคหรือกรรมวิธีพิเศษที่ยุ่งยากโดยการให้ผู้ป่วยรับประทาน ฉีด หรือสวนสารทึบแสงเข้าไปใน ร่างกายก่อนถ่ายและบันทึกภาพถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นรูปตัดขวางเพื่อตรวจหาตำแหน่งของโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตรวจสอบคุณภาพของภาพบันทึกทางรังสีก่อนที่จะส่งให้แพทย์วินิจฉัยโรค ใช้วัสดุกั้นรังสี เช่น แท่งตะกั่ว ป้องกันส่วนของร่างกายที่ดีให้ปลอดภัยจากอันตรายจากรังสี ฉายรังสีเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เนื้องอก ก้อนทูม ด้วยเครื่องโคบอลต์ 60 และเครื่องมือทางรังสีการแพทย์อื่น ๆ ควบคุมการให้ปริมาณรังสีแก่ผู้ป่วยตามขนาดที่แพทย์ต้องการ ด้วยวิธีการทางรังสีฟิสิกส์ เพื่อรักษาส่วนของร่างกายที่เป็นโรค ควบคุมการใช้สารกัมมันตภาพรังสี และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์กับผู้ป่วย เช่น การใช้เครื่องนับวัดรังสีตรวจหาปริมาณรังสีจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วย จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายและบันทึกภาพทางรังสี ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันอันตรายจากรังสีให้พร้อมอยู่เสมอ ช่วยแพทย์หรือนักรังสีการแพทย์ในการศึกษาค้นคว้าทดลอง และปรับปรุงวิธีการเทคนิคการปฏิบัติงานด้านรังสีการแพทย์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานรังสีการแพทย์

ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน ควบคุม ตรวจสอบให้คำปรึกษาแนะนำปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงานปฏิบัติงานตามที่ได้รับ มอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 4 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าระดับ 3 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4 แล้ว จะต้อง
1. มีความรู้ความเข้าใจในหลักการบริหารงานบุคคล
2. มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 6

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับกอง ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูง หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานรังสีการแพทย์ โดยควบคุมหน่วยงานหลายหน่วย และปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากพอสมควร หรือปฏิบัติงานรังสีการแพทย์ในลักษณะผู้ชำนาญการหรือผู้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญงานเทียบได้ระดับเดียวกัน และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานรังสีการแพทย์ตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความชำนาญเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ควบคุมการปฏิบัติงานจัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์และ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือรังสีฟิสิกส์ การจัดท่าผู้ป่วย การถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ ทั้งในกรณีปกติธรรมดาและในกรณีที่ต้องใช้เทคนิคหรือกรรมวิธีพิเศษที่ยุ่งยาก โดยการให้ผู้ป่วยรับประทาน ฉีด หรือสวนสารทึบแสงเข้าไปในร่างกายก่อนถ่ายและบันทึกภาพ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของภาพบันทึกทางรังสีก่อนที่จะส่งให้แพทย์วินิจฉัยโรค การฉายรังสีเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เนื้องอก ก้อนทูม ด้วยเครื่องโคบอดต์ 60 และเครื่องมือทางรังสีการแทพย์อื่น ๆ ควบคุมการให้ปริมาณรังสีแก่ผู้ป่วยตามขนาดที่แพทย์ต้องการ ด้วยวิธีการทางรังสีฟิสิกส์ การใช้สารกัมมันตภาพรังสี และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์กับผู้ป่วย วางแผน มอบหมายงาน สั่งการ และตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านรังสีการแพทย์ ช่วยหรือปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ นักรังสีการแพทย์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และปรับปรุงวิธีการเทคนิคการปฏิบัติงานด้านรังสีการแพทย์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดำเนินการเผยแพร่ผลงานด้านรังสีการแพทย์ ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่ได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมประชุมในการกำหนดนโยบายและแผนงานของส่วนราชการที่สังกัด และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานรังสีการแพทย์

ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน พิจารณาวางอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน วินิจฉัย สั่งการ ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงานปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 5 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 2 และได้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 4 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 5 แล้ว จะต้อง
1. มีความสามารถในการบริหารงานและจัดระบบงาน
2. มีความสามารถในการริเริ่ม ปรับปรุงนโยบายและแผนงาน
3. มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ในการทำแผนตารางทำการ (Spread Sheet)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สันทนาการ

เจ้าพนักงานทะเบียน

เจ้าพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว