นักวิทยาศาสตร์การแพทย์

มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

สายงาน วิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์

ลักษณะงานโดยทั่วไป
สายงานนี้คลุมถึงตำแหน่งต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานวิชาการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีลักษณะงานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจชันสูตรโรค พิสูจน์ยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการในสาขาต่าง ๆ เช่น บัคเตรีวิทยาไวรัสวิทยา พาราสิตวิทยา โลหิตวิทยา ฯลฯ การเพาะเลี้ยงเชื้อ แยกเชื้อ ทั้งเชื้อบัคเตรีและไวรัส ผลิตแอนติเจน แอนติเซรุ่ม วัคซีน ท๊อกซอยด์ ฯลฯ และสารมาตรฐานอื่น ๆ ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการระบาดของโรค การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อสนับสนุนการป้องกันรักษาโรค ตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานยา ชีววัตถุ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง การจัดทำตารางยาแห่งประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารเสพติด การตรวจวิเคราะห์สารพิษชนิดต่าง ๆ จากเลือด ปัสสาวะ อวัยวะผู้ป่วย ผู้ตาย และสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยสมุนไพร ทางพฤกษศาสตร์ เภสัชเวท พฤกษเคมี เภสัชวิทยา ฯลฯ เพื่อหาสารสำคัญ และทดลองผลิตเป็นยารักษาโรค สอบเทียบวิธีตรวจวิเคราะห์ ตรวจชันสูตร รวมทั้งห้องปฏิบัติการ และพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ ตรวจซ่อม จัดหา บำรุงรักษา เครื่องมือวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานวิเคราะห์ วิจัยปฏิบัติงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนการสอน ฝึกอบรม นิเทศงาน และปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ชื่อและระดับของตำแหน่ง
ตำแหน่งในสายงานนี้มีชื่อและระดับของตำแหน่งดังนี้ คือ
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 ระดับ 3 ประเภทตำแหน่ง ทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ระดับ 4 ประเภทตำแหน่ง ทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5 ระดับ 5 ประเภทตำแหน่ง ทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 ระดับ 6 ประเภทตำแหน่ง ทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7 ระดับ 7 ประเภทตำแหน่ง ทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 8 ระดับ 8 ประเภทตำแหน่ง ทั่วไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ชื่อตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานขั้นต้นเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้การกำกับตรวจสอบโดยใกล้ชิด และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
เป็นเจ้าหน้าที่ขั้นต้นทำหน้าที่เกี่ยวกับวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น เจาะโลหิต เก็บวัตถุตัวอย่าง เช่น น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร น้ำในช่องท้องหรือปอด น้ำไขสันหลัง นำมาตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมี เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของร่างกาย การตัดชิ้นเนื้อ ขูด หรือย้ายเซลล์หรือเนื้อเยื่อ เพาะเชื้อในสัตว์ทดลอง ผ่าตัดอวัยวะสัตว์ทดลอง เพื่อการชันสูตรโรค ทดสอบความไวของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ ตรวจนับและแยกชนิดของเซลล์หรือเม็ดเลือดช่วยศึกษา ค้นคว้าทดลอง เกี่ยวกับการผลิตชีววัตถุ เพื่อใช้ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีน ท๊อกซอยด์ แอนติเจน แอนติเซรุ่ม ฯลฯ การตรวจวิเคราะห์เพื่อทราบชนิดและปริมาณของยาชีววัตถุ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ที่มีส่วนประกอบไม่ยุ่งยากนักด้วยวิธีทางเคมี ฟิสิกส์ จุลชีววิทยา ฯลฯ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ตรวจสอบสารเสพติด สารไพโรเจน ตรวจสอบเชื้อบัคเตรี สารเจือปนต่าง ๆ ในอาหาร เช่น วัตถุกันบูด สีผสมอาหาร สารพิษในวัตถุตัวอย่างจากคนหรือสัตว์ที่ป่วยหรือตาย สารพิษในอาหาร เครื่องสำอางและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ศึกษาสำรวจสมุนไพรตามท้องถิ่นต่างๆ และจำแนกชื่อชนิดตามหลักพฤกษศาสตร์และเภสัชวินิจฉัย สกัด สาระสำคัญ ศึกษาคุณสมบัติทางเคมีฟิสิกส์ ศึกษาสูตรโครงสร้าง สรรพคุณและพิษที่มีต่อสัตว์ทดลอง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวงรวมข้อมูล จัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ทดสอบต่าง ๆ ตรวจซ่อมดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนประกอบไม่สลับซับซ้อนมากนัก เป็นต้น และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางเทคนิคการแพทย์ เคมี วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์การอาหาร วิทยาศาสตร์ทั่วไป พฤกษศาสตร์ ชีววิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ฟิสิกส์การแพทย์ เภสัชศาสตร์ สัตววิทยา วิทยาศาสตร์สาขากีฏวิทยา วิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา วิทยาศาสตร์สาขาการจัดการศัตรูพืช การเกษตร คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์รังสี อาชีวอนามัย วิศวกรรมสุขาภิบาล รังสีเทคนิค หรือทางอื่นที่ ก.ท.กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้ หรือ
2. ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางเภสัชศาสตร์ ที่มีหลักสูตรกำหนด ระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อจากวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือทางอื่นที่ ก.ท. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
1. มีความรู้ในวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่
2. มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับอื่นที่ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่
3. มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย
4. มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่
5. มีความสามารถในการศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาและสรุปเหตุผล

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งค่อนข้างยากมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กำกับตรวจสอบ หรือภายใต้การตรวจสอบบ้าง หรือปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับแผนก ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูง หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงานซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนหนึ่ง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยากมากเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ตรวจชันสูตรทางพยาธิวิทยาคลีนิก จุลชีววิทยา เคมีคลีนิค โลหิตวิทยา เซรุ่มวิทยา เซลล์วิทยา ฯลฯ ศึกษาค้นคว้าทดลองตรวจและแยกเชื้อบัคเตรี ไวรัส พาราสิต เพื่อชันสูตรโรค รวมทั้งตรวจสอบสารต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุ และอาการผิดปกติของร่างกาย จากโลหิต น้ำเหลือง น้ำไขสันหลัง อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ ศึกษาสำรวจภาวะและการระบาดของโรคในท้องถิ่น ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานชีววัตถุที่ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาวิธีการผลิต ค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับการผลิตสารมาตรฐาน การผลิตวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย ตรวจวิเคราะห์ยาทุกประเภท สารเสพติด อาหารทั่วไป อาหารส่งออก น้ำ เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือมีวิธีการที่ยุ่งยาก ทดสอบและตรวจสอบวิธีตรวจวิเคราะห์ยาที่ขอขึ้นทะเบียน และช่วยในการพิจารณาตัวยา เพื่อนำเข้าบรรจุในตำรายาแห่งประเทศไทย ตรวจหาชนิดและปริมาณของเชื้อบัคเตรี สารเจือปน สารห้ามใช้ สารพิษในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ฯลฯ และในวัตถุตัวอย่าง เช่น อวัยวะ น้ำล้างกระเพาะ เลือด อาเจียน ฯลฯ จากผู้ป่วยหรือผู้ตายที่สงสัยว่าได้รับสารพิษโดยการตรวจหาทั้งชนิดและปริมาณ การศึกษา วิจัยสมุนไพรทางพฤกษศาสตร์ เภสัชเวท พฤกษเคมี เภสัชจุลศาสตร์ เภสัชวิทยา สังเคราะห์สารศึกษาความเป็นพิษ ทดลองผลิตสมุนไพร สารสกัด หรือสารสำคัญ เพื่อใช้เป็นยารักษาโรค ตรวจซ่อมดูแล ให้คำแนะนำในการบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีกลไกค่อนข้างสลับซับซ้อน เป็นต้น ให้คำปรึกษาแนะนำ ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผลและแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 3 หรือที่ ก.ท. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี กำหนด 2 ปี ให้ลดเป็น 1 ปี สำหรับผู้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 ข้อ 2 หรือ
2. ได้รับปริญญาโทหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางทางเทคนิคการแพทย์ เคมี วิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิทยาศาสตร์การอาหาร วิทยาศาสตร์ทั่วไป พฤกษศาสตร์ ชีววิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ฟิสิกส์ เภสัชศาสตร์ สัตววิทยา วิทยาศาสตร์สาขากีฏวิทยา วิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา วิทยาศาสตร์สาขาการจัดการศัตรูพืช การเกษตร คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์รังสี อาชีววิทยา วิศวกรรมสุขาภิบาล รังสีเทคนิค หรือทางอื่นที่ ก.ท. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 แล้ว จะต้อง
1. มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและแผนงานด้านต่าง ๆ ของส่วนราชการที่สังกัด
2. มีความสามารถในการจัดทำแผนงาน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษา แนะนำ และเสนอแนะวิธีการแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ
3. มีความสามารถในการปกครองบังคับบัญชา
4. มีความสามารถในการติดต่อประสานงาน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับแผนก ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูงมาก หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนพอสมควร หรือปฏิบัติงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ยากมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กำกับตรวจสอบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ยากมากเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับโรคและการชันสูตรโรคในสาขาต่าง ๆ เช่นบัคเตรีวิทยา ไวรัสวิทยา เชื้อราวิทยา พาราสิตวิทยา โลหิตวิทยา ชีวเคมี ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย การป้องกันและรักษาโรค ปรับปรุงวิธีการผลิตชีววัตถุให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ค้นคว้า ทดลอง เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ ตรวจชันสูตร ยา อาหาร เครื่องดื่ม สารพิษ สารเสพติด ด้วยวิธีการใหม่ ๆ และการใช้เครื่องมือพิเศษ รวมทั้งการแปล และประเมินผล ช่วยค้นคว้าข้อมูลตัวยาด้านต่าง ๆ เสนอแคณะกรรมการ เพื่อจัดทำตำรายาแห่งประเทศไทย ตัดสินวิธีการวิเคราะห์ยาในตำรับต่าง ๆ ที่ขอขึ้นทะเบียน ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารพิษ สารเจือปน สารห้ามใช้ในอาหาร เครื่องสำอาง และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ประจำวัน ของเล่นเด็ก ฯลฯ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ศึกษา วิจัยสมุนไพรด้านต่าง ๆ เพื่อผลิตเป็นยารักษาโรค รวมทั้งการค้นคว้าวิธีตรวจวิเคราะห์ เพื่อควบคุมคุณภาพของสมุนไพร ตรวจซ่อม จัดหา บำรุงรักษา ดูแล แนะนำวิธีใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ติดตาม ตรวจสอบ รวบรวมและประเมินผลการวิเคราะห์วิจัย เป็นต้น ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหา และชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่
ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผลและแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 4 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 และได้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 3 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี กำหนด 4 ปี ให้ลดเป็น 3 ปี สำหรับผู้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 แล้ว จะต้อง
1. มีความรู้ความเข้าใจในหลักการบริหารงานบุคคล
2. มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับกอง ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูง หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยควบคุมหน่วยงานหลายหน่วย และปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากพอสมควร หรือปฏิบัติงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในลักษณะผู้อำนวยการ หรือผู้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญงานเทียบได้ระดับเดียวกัน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความชำนาญเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับโรคและการชันสูตรโรคในสาขาต่าง ๆ เช่น บัคเตรีวิทยา ไวรัสวิทยา พาราสิตวิทยา ชีวเคมี โลหิตวิทยา เซรุ่มวิทยา ฯลฯ ค้นคว้า วิจัยการผลิตชีววัตถุชนิดใหม่ ๆ เพื่อป้องกัน รักษาและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การศึกษาระบาดวิทยาของโรค สำรวจภาวะโรคในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ วางแผนงานการวิเคราะห์วิจัยการตรวจชันสูตร การศึกษาภูมิคุ้มกันโรคกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กำหนดมาตรฐาน ขั้นตอนและวิธีการในการตรวจวิเคราะห์ ยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ฯลฯ ที่ยุ่งยากได้อย่างถูกต้อง ตรวจสอบ แปล และประเมินผลการตรวจวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์เรื่องซึ่งเป็นปัญหาสลับซับซ้อน หรือมีความสำคัญมาก ค้นคว้า ทดสอบข้อมูลของตัวยาด้านต่าง ๆ และรวบรวมเสนอคณะกรรมการ เพื่อจัดทำตำรายาแห่งประเทศไทย ทดสอบวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับสารพิษ สารเสพติด สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง ในกรณีแปลกใหม่ซึ่งต้องใช้ความชำนาญสูง เป็นตัวแทนของหน่วยราชการในการเป็นพยานต่อศาลเพื่อประกอบการดำเนินคดี ศึกษาวิจัยสมุนไพรด้านต่าง ๆ โดยใช้วิธีการและเครื่องมือพิเศษ เช่น ลักษณะรายละเอียดของส่วนต่าง ๆ ของพืช แยกสารบริสุทธิ์เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ สูตรโครงสร้าง ศึกษาฤทธิ์และพิษของสารสำคัญ รวมทั้งฤทธิ์ข้างเคียงในสัตว์ทดลอง สังเคราะห์สารสำคัญและอนุพันธ์ เพื่อให้ได้ปริมาณที่มากพอที่จะนำไปศึกษาวิจัยต่อในด้านต่างๆ ศึกษาอัตราการดูดซึมและการขับถ่ายออกจากร่างกาย เพื่อทดลองหาขนาดรับประทาน ร่วมมือกับแพทย์เพื่อการทดลองทางคลีนิค ให้คำปรึกษา แนะนำวิธีการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องใช้เทคโนโลยีสูง กำหนดคุณลักษณะของเครื่องมือเหล่านั้น รวมทั้งมีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่ได้รับแต่งตั้ง เข้าร่วมประชุมในการกำหนดนโยบายและแผนงานของส่วนราชการที่สังกัด และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน พิจารณาวางอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน วินิจฉัย สั่งการ ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไขติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 5 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 4 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5 แล้ว จะต้อง
1. มีความสามารถในการบริหารงาน และจัดระบบงาน
2. มีความสามารถในการริเริ่ม ปรับปรุงนโยบายและแผนงาน
3. มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ในการทำแผ่นตารางทำการ (Spread Sheet)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
บริหารงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับกอง ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูงมาก หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยควบคุมหน่วยงานหลายหน่วย และปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนมาก หรือปฏิบัติงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ในลักษณะผู้ชำนาญการพิเศษ หรือผู้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญงานเทียบได้ระดับเดียวกัน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับบัคเตรี ไวรัส พาราสิต ฯลฯ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาการปฏิบัติงาน ตรวจชันสูตร ตรวจสอบ เปรียบเทียบคุณภาพ ห้องปฏิบัติการตรวจชันสูตรและวิธีการตรวจวิเคราะห์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ได้มาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ค้นคว้า วิจัย การผลิตชีววัตถุใหม่ ๆ รวมทั้งวิธีการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพของชีววัตถุตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก สำรวจภาวะของโรคและศึกษาวิจัยการระบาดของโรคในท้องถิ่น ตลอดจนศึกษาภูมิคุ้มกันโรคในประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กำหนดมาตรฐานขั้นตอนและหาวิธีตรวจวิเคราะห์ ยา อาหาร เครื่องดื่ม น้ำ เครื่องสำอาง สารพิษ สารเสพติด ซึ่งยังไม่มีวิธีทำมาก่อน ซึ่งต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตรวจสอบ แปล และประเมินผล การตรวจวิเคราะห์ วางแผนงานการวิจัยและปฏิบัติงานวิจัยในเรื่องของยา อาหาร สารพิษ สมุนไพร ฯลฯ ซึ่งต้องใช้วิธีการหรือเครื่องมือพิเศษ ค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูลของตัวยาด้านต่างๆ และรวบรวมเสนอคณะกรรมการเพื่อจัดทำตำรายาแห่งประเทศไทย วางแผนในการจัดหาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทุกชนิด ที่ใช้ในการวิเคราะห์วิจัยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ ดูแลและให้คำแนะนำในการซ่อมบำรุง การตรวจสอบมาตรฐานและประสิทธิภาพของเครื่องมือ เป็นต้น ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการต่างๆ ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง เข้าร่วมประชุมในการกำหนดนโยบายและแผนงานของส่วนราชการที่สังกัด และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน พิจารณาวางอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน วินิจฉัย สั่งการ ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 6 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 5 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 แล้ว จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในนโยบายการบริหารงานของรัฐบาล และปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 8

ตำแหน่งประเภท ทั่วไป

หน้าที่และความรับผิดชอบ
บริหารงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับกอง ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูงมาก หรือในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน รับผิดชอบงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยควบคุมหน่วยงานหลายหน่วย และปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนมาก หรือปฏิบัติงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ในลักษณะผู้ชำนาญการพิเศษ หรือผู้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญงานเทียบได้ระดับเดียวกัน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับบัคเตรี ไวรัส พาราสิต ฯลฯ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาการปฏิบัติงาน ตรวจชันสูตร ตรวจสอบ เปรียบเทียบคุณภาพ ห้องปฏิบัติการตรวจชันสูตรและวิธีการตรวจวิเคราะห์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ได้มาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ค้นคว้า วิจัย การผลิตชีววัตถุใหม่ ๆ รวมทั้งวิธีการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพของชีววัตถุตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก สำรวจภาวะของโรคและศึกษาวิจัยการระบาดของโรคในท้องถิ่น ตลอดจนศึกษาภูมิคุ้มกันโรคในประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กำหนดมาตรฐานขั้นตอนและหาวิธีตรวจวิเคราะห์ ยา อาหาร เครื่องดื่ม น้ำ เครื่องสำอาง สารพิษ สารเสพติด ซึ่งยังไม่มีวิธีทำมาก่อน ซึ่งต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตรวจสอบ แปล และประเมินผล การตรวจวิเคราะห์ วางแผนงานการวิจัยและปฏิบัติงานวิจัยในเรื่องของยา อาหาร สารพิษ สมุนไพร ฯลฯ ซึ่งต้องใช้วิธีการหรือเครื่องมือพิเศษ ค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูลของตัวยาด้านต่างๆ และรวบรวมเสนอคณะกรรมการเพื่อจัดทำตำรายาแห่งประเทศไทย วางแผนในการจัดหาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทุกชนิด ที่ใช้ในการวิเคราะห์วิจัยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ ดูแลและให้คำแนะนำในการซ่อมบำรุง การตรวจสอบมาตรฐานและประสิทธิภาพของเครื่องมือ เป็นต้น ฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา ตอบปัญหาและชี้แจงเรื่องต่าง ๆ
เกี่ยวกับงานในหน้าที่ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการต่างๆ ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง เข้าร่วมประชุมในการกำหนดนโยบายและแผนงานของส่วนราชการที่สังกัด และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน นอกจากอาจปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน พิจารณาวางอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดต่อประสานงาน วางแผน มอบหมายงาน วินิจฉัย สั่งการ ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งในระดับ 7 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
2. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ข้อ 2 และได้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 6 หรือที่ ก.ท.เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยจะต้องปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์หรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ความรู้ความสามารถที่ต้องการ
จะมีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7 และมีความเชี่ยวชาญในหน้าที่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สันทนาการ

ช่างศิลป์

เจ้าพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว